วัดกงไกรลาศ ต.กง อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย
ประวัติหลวงพ่อโต(วิหารลอย)
หลวงพ่อโต (วิหารลอย) เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ที่เก่าแก่ของจังหวัดสุโขทัย สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ได้ระบุชัดเจน เล่ากันว่าในสมัยที่พม่ายกทัพมาตีเมืองพิษณุโลกได้เดินทัพผ่านและพักแรมที่บ้านกงแห่งนี้ ด้วยความคึกคะนองและอยากลองดีของทหาร ได้ยิงปืนใหญ่ถล่มวิหารหลวงพ่อจนพังเสียหาย แต่ไม่ระคายองค์พระแม้แต่น้อยมีเพียงรูทะลุด้านซ้ายให้เห็นเพื่อเตือนให้ระลึกถึงความต่ำทรามของทหารพม่าเท่านั้น ความเสียหายของวิหารในครั้งนั้น หลวงพ่อโตต้องตากแดด ตากฝนอยู่นานหลายสิบพรรษา จนกระทั่งคืนหนึ่งของวันเพ็ญเดือนสาม ชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัดนั้น ได้ยินเสียงแผ่นดินสะเทือนเลื่อนลั่นมาจากทางวัด แต่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งรุ่งเช้า ต่างพบว่าหลวงพ่อโตได้แสดงปาฏิหาริย์เคลื่อนองค์ท่าน จากที่เดิมไปประทับใต้ต้นคูน ซึ่งอยู่ห่างจากที่เดิมราวสามวา
สำหรับคำว่า “วิหารลอย” นั้น เป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมา ถึงอภินิหารของหลวงพ่อโต ซึ่งเกิดจากการสังเกตของชาวบ้านว่า ทุกปีที่น้ำท่วมล้นแม่น้ำยมซึ่งติดกับวัดศาลาและกุฏิต้องยกสูงมากกว่าหกศอกเพื่อหนีน้ำ แต่วิหารหลวงพ่อโตอยู่ในบริเวณเดียวกันนั้น กลับดูเสมือนลอยพ้นน้ำ ดังที่เกิดน้ำท่วมในปี พ.ศ.๒๔๘๕ สิ่งที่ปรากฏตามธรรมชาตินี้ คนโบราณได้กล่าวกันว่าเกิดขึ้นเพราะใต้วิหารหลวงพ่อ มีเรือสล่าเงินและทองหนุนค้ำให้วิหารลอยน้ำ โดยมีโซ่ล่ามมาผูกที่ต้นโพธิ์
หลวงพ่อโต เป็นพระคู่บ้านคู่เมือของชาวบ้านกง เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ให้ทุกคนทำความดี เว้นความชั่วมุ่งมั่นประกอบอาชีพโดยสุจริต ด้วยบารมีของหลวงพ่อโตจะอำนวยพรปกป้องคุ้มครองให้บุคคลเหล่านั้นประสบแต่ความสุขความเจริญ ด้วยคติความเชื่อของชาวพุทธที่เคารพบูชา ทุกปีของวันเพ็ญเดือนสี่ หรือหลังฤดูเกี่ยวข้าว ชาวบ้านจะจัดเทศกาล เพื่อเฉลิมฉลองสมโภชน์ หลวงพ่อโต เป็นงานใหญ่ที่คนทั่วสารทิศจะเดินทางมามนัสการหลวงพ่อ เพื่อเป็นสิริมงคลทั้งต่อตนและครอบครัว ปาฏิหาริย์หลวงพ่อโต(วิหารลอย) ส่งพลังช่วยนักบินเครื่องตกไม่ตาย ในแต่ละปีจะมีการจัดงานปิดทองนมัสการหลวงพ่อโต(วิหารลอย) และมีพิธีบรรพชาอุปสมบทนาคหมู่ ระหว่าง วันขึ้น ๑๒ ค่ำ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน๔ เป็นประจำทุกปี
ในปี พ.ศ.๒๕๔๖ ได้จัดงานดังกล่าวและได้จัดให้มีการแสดงบินโชว์ด้วยร่มพารามอเตอร์ ให้ผู้มาร่วมงานได้ชมกัน โดยมีนายไพล็อต สินธุ์สา เป็นนักบิน ขณะที่บังคับเครื่องลอยขึ้นจนถึงขีดจำกัดในระยะความสูง ๓๐๐ เมตร ช่วงนั้นได้สร้างความตื่นเต้นให้แก่ผู้ชมการแสดงเป็นอย่างยิ่ง นักบินโฉบไปโฉบมาอย่างหวาดเสียว แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เมื่อเกิดลมหมุน ที่ชาวบ้านเรียกว่า ลมบ้าหมู อย่างกะทันหัน ลมบ้าหมูได้ดูดเอาร่างของนักบินหมุนควงสว่าน ทำให้ร่มบินของนักบินพับเข้าหากัน ผู้ชมต่างหวีดร้องด้วยความตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สายตาทุกคู่จับต้องไปที่ร่างของนักบินอย่างไม่กระพริบตา แล้วร่างของนักบินก็ร่วงลงพื้นอย่างรวดเร็วกระแทกพื้นเต็มแรงฝุ่นตลบ ทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างตกใจคิดว่านักบินเสียชีวิต คณะกรรมการวัดและอาสาสมัครต่างวิ่งเข้าไปช่วยเหลือนักบิน โชคดีที่เขายังหายใจอยู่จึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่นายไพล็อต กลับไม่เป็นอะไรเลย และบอกว่าก่อนที่จะขึ้นบินเหนือวัดและขอให้ท่านคุ้มครอง “ขณะที่เกิดอุบัติเหตุนั้นผมคิดว่าไม่รอดแล้ว ก็พยายามตั้งสติระลึกถึงหลวงพ่อโต ให้ช่วยแก้สถานการณ์ ซึ่งมันเป็นช่วงที่รวดเร็วมากและผมก็รอดตายอย่างปาฏิหาริย์เพราะบารมีของหลวงพ่อโตช่วยชีวิตไว้ได้” หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คอลัมน์ เหนือฟ้าใต้บาดาล ฉบับวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๖ |